จุดเริ่มต้น
... ขอพาดพิงถึงพี่คนหนึ่งที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น และความชอบญี่ปุ่นของพี่เค้าไม่ธรรมดา แต่เป็นความชอบที่ถูกทำให้เป็นจริง ผมเห็นพี่เค้าเดินไปทางญี่ปุ่นบ่อยมาก บางปี 2-3 ครั้ง หนึ่งในภาพที่เป็นใน Social Media ของพี่เค้า คือการไปกินกาแฟที่ Starbucks และพี่เค้าก็จะโพสต์ว่า "เครื่องดื่มประจำชาติญี่ปุ่น"
พอมองกลับมาที่ประเทศไทย Starbucks กลับกลายเป็นภาพที่ไม่ดีในความรู้สึกของผม (ออกตัวก่อนนะว่า ผมเป็นคนชอบกินกาแฟ ถ้าเดินผ่าน Starbucks ในเวลาที่อยากกินกาแฟ ผมก็จะแวะกินเสมอ)
กลับกลายเป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบของคนที่ใช้ชีวิตไม่ปกติ ถูกมองว่าเป็นของแพง(เกินไป) ถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย และมีบางคนไม่เห็นด้วยกับการไปกินกาแฟร้านนี้ ... ผมเคยได้ยินบทสนทนาในห้องน้ำในยิม เค้าคุยกันว่า "คนที่กิน Startbuck ต้องไม่ธรรมดา รวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโง่ด้วย" ผมถึงกันต้องหันไปยิ้มกับคนที่พูด ในใจก็นึกว่า พี่เห็นเขา(ควาย)บนหัวผมเหรอครับ (ขออภัยน้องควาย ที่ขอเปรียบเทียบนิดหนึ่งนะ)
คนญี่ปุ่นกิน Starbucks เยอะจริงไหม … ทำไม ???
วันนี้ผมนั่งคุยเรื่องกาแฟกับน้องคนหนึ่งที่เรียนจบที่ญี่ปุ่น ทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น 10 กว่าปี และนี้คือบทสนทนานั้น
จ: จริงหรือป่าวที่ Starbucks เป็นเครื่องดื่มประจำชาติญี่ปุ่น
ก: มันถูกพี่จุ๊บ
จ: หือ !!! จำได้ว่าราคามันก็พอ ๆ กับที่ไทยนินา
ก: ช่าย แก้วหนึ่งมันก็ประมาณ 400 เยน แต่ว่า มันเป็น 400 เยนที่เทียบกับราคาราเมนชามหนึ่งประมาณ 800 เยน ถ้าจะเหมือนเมืองไทย คือมันราคาครึ่งหนึ่งของก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง ก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา 60 บาท ก็คือ มองได้ว่า Starbucks ก็ประมาณ 40 บาท เมื่อเทียบรายได้ กับรายจ่ายในญี่ปุ่น Starbucks ไม่ใช่ของแพงเลย
จ: อ่อ เข้าใจล่ะ
ก: แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง แก้วที่ 2 มันจะลดเหลือ 100 เยน แปลว่า ถ้าวันหนึ่งเรากิน 2 แก้ว มันก็จะเหลือแก้วหนึ่ง 250 เยน
จ: มันเป็นโปรโมชั่นเป็นช่วงเวลาป่ะ
ก: ป่าว … มันเป็นอย่างนี้ตลอดทั้งปี
จ: เข้าใจล่ะ
จริง ๆ แล้วราคา Starbucks ในญี่ปุ่น และไทย ราคาไม่ต่างกันมากนัก แต่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ด้วยรายรับของคนทำงานที่ต่างกัน ทำให้มูลค่าของ Starbucks ในทั้ง 2 ประเทศถูกมองในมุมที่ต่างกัน ... ในมุมของผม Starbucks นอกจากจะเป็นร้านกาแฟ ก็ยังเป็นห้องทำงาน เป็นที่เจรจาธุรกิจ เป็นหมุดหมายในการจัดเจอผู้คน รวมถึงการเป็นที่นั่งพักคอย อีกด้วย ...
ทุกคนล้วนสร้างสรรค์ความสุขในรูปแบบของตัวเอง อย่าไปบังคับคนอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของความสุขของเรา แต่เราน่าจะพาตัวเราไปเป็นส่วนหนึ่งของความสุขของคนอื่นดีกว่า ... ผมกิน Starbucks แต่ผมไม่โง่นะครับ